จัดทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านเคยอบรมสั่งสมมา
ประวัติพระอธิการอนุจิต อนุตฺโต (พระอาจารย์ตู่) อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ (วัดห้วยลึก)บ้านห้วยลึก ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 





ชีวประวัติ
พระอธิการอนุจิต      อนุตฺตโร  (ศรุตานนท์)


ชาตกาล
ท่านพระอธิการอนุจิต  อนุตฺตโร      ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๐  มกราคม  พ.ศ.๒๕๑๐  ที่บ้านทัพทัน  ต.ทัพทัน  จ.อุทัยธานี 
        นามเดิม อนุจิต  นามสกุล  ศรุตานนท์  เป็นบุตรของนายนุกูล    ศรุตานนท์       
และนางจิตรา  นฤคนธ์
                ท่านมีพี่น้องรวมกัน  ๓ คนตามลำดับดังนี้
                ๑.  พระอธิการอนุจิต     อนุตฺตโร  (ศรุตานนท์)
                ๒.  นางขรนิษฐา           ศรุตานนท์
                ๓.  นายอนุชา               ศรุตานนท์


 ชีวิตฆราวาส
            ชีวิตในวัยเยาว์ท่านพระอาจารย์อนุจิต  อนุตฺตโร    นั้นเป็นชีวิตที่ต้องมีการย้ายถิ่นที่อยู่เป็นประจำ  เมื่อท่านอายุได้ประมาณ  ๗ ขวบ ท่านและครอบครัวได้ย้ายบ้านจากจังหวัดอุทัยธานีมาอยู่ที่โรงงานปูนซีเมนต์โพนทอง  อ.ตาคลี   จ.นครสวรรค์  และในขณะเดียวกันท่านได้เริ่มเข้าเรียนหนังสือในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒  ที่โรงเรียนพิริยะพิทยาคม  ท่านเป็นคนที่เรียนเก่งมาโดยตลอด มีนิสัยใฝ่ในการอ่าน  การเรียนรู้เพิ่มอยู่ตลอดจนทำให้ผลการเรียนของท่านอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่เสมอ ต่อมาท่านและครอบครัวได้ย้ายที่อยู่ใหม่มาอยู่ที่  บ้านโกรกพระ   ม.๓   ต.โกรกพระ  อ.โกรกพระ  จ.นครสวรรค์  และท่านได้ย้ายมาเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๓  ที่โรงเรียนโกรกพระพิทยาคม 
                ขณะเดียวกันนั้นความเศร้าโศกเสียใจก็เข้ามาเยือนกับครอบครัวของท่าน ซึ่งบิดาได้ถึงแก่กรรมลง  ภาระที่ต้องดูแลลูกๆ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของมารดา  เมื่อท่านได้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๓ แล้วท่านได้สอบเข้าเรียนต่อในระดับ ปวช. เอกการบัญชี ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์  เมื่อเรียนในระดับ ปวช.จบแล้วท่านก็ได้เข้าเรียนต่อในระดับ ปวส.ต่อ จนจบ  แต่ในช่วงที่ท่านเรียนอยู่ ปวส. ปีสุดท้ายท่านก็ได้หาวิธีที่จะแบ่งเบาภาระของครอบครัวบ้าง  เหตุนี้จึงได้สมัครเข้าทำงานที่บริษัท CP เจริญโภคภัณฑ์  จึงทำให้ท่านต้องบริหารเวลาทั้งเรื่องเรียนและการทำงานไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งสองอย่าง  จากการที่ได้เข้าทำงานจึงทำให้ท่านมีเงินพอที่จะช่วยจุนเจือครอบครัวได้พอสมควร และท่านยังเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่าท่านได้รับแสดงหนังด้วย
                หลังจากที่เรียนจบแล้วก็ได้เข้ามาทำงานที่บริษัท  CP เจริญโภคภัณฑ์  ได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่ได้ทำงานอยู่สักพักหนึ่งก็ได้ย้ายไปทำงานที่โรงงานปูนซีเมนต์   จ.สระบุรี, บริษัทถาวรฟาร์ม, ตึกน้ำเงิน ฯ ด้วยการที่ท่านนั้นเป็นคนที่ฉลาด  เอาใจใส่ในการทำงาน  ทำงานละเอียด  มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงานลูกน้องจึงทำให้ท่านเป็นคนที่มีคนรักมาก  พร้อมกันนั้นก็ทำให้ท่านมีเงินมากพอที่จะส่งน้อง ๆ เรียนและจุนเจือครอบครัวให้สุขสบายได้  แต่ด้วยเหตุที่ท่านมีเงินมีรถจึงทำให้ท่านชอบที่จะเที่ยว ดื่มสุรามาก  ตามวัยของท่าน
การอุปสมบท
การอุปสมบทของท่าน พระอาจารย์อนุจิต  อนุตฺตโร  ท่านเคยบวชด้วยกันถึงสองหนด้วยกัน  หนแรกนั้นเป็นการบวชตามประเพณีและท่านก็ได้ลาสิกขาไป 
                เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๑  ในขณะนั้นน้องชายของท่านได้ประสบอุบัติเหตุอย่างสาหัส  ซึ่งได้ส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่นานแต่อาการก็ไม่ดีขึ้นเลยสุดที่จะเยียวยารักษา พร้อมกันนั้นภาวะการเงินในขณะนั้นติดขัดพอสมควร ด้วยความที่ท่าน สงสารน้องและมารดา ท่านก็พยายามหาวิธีทางช่วยแต่ก็ไม่มีผลอะไร และแล้วหนทางสุดท้ายที่ท่านกลับหันมาพึ่งคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นจึงได้ไปบนกับหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเรไลย์  ต.นครสวรรค์ออก อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ ว่า  “ถ้าหากน้องชายของข้าพเจ้าหายเป็นปกติ ข้าพเจ้าจะขอบวชในพระพุทธศาสนา”  ด้วยการที่ท่านบนในครั้งนั้นเองจึงทำให้เกิดเหตุอัศจรรย์ที่ไม่น่าเชื่อ น้องชายของท่านที่นอนอยู่ที่โรงพยาบาลด้วยอาการสาหัสสุดแทบที่จะเยียวยาก็ได้เริ่มมีความรู้สึกตัวและอาการก็ค่อยๆ      ดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติ
                หลังจากนั้นก็ได้ทำงานเก็บเงินเพื่อให้มารดา และน้อง ของท่านมีไว้ใช้จ่ายพอสมควรแล้ว จึงขอลาอุปสมบทแก้บน  ถือว่าเป็นการอุปสมบทเป็นครั้งที่สอง  เมื่อวันที่  ๑๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๑  ณ พัทธสีมา   วัดหนองปลิง ต.นครสวรรค์ออก อ.เมืองนครสวรรค์   จ.นครสวรรค์  มีพระครูนิเทศพรหมคุณ วัดไทรเหนือ จ.นครสวรรค์  เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูวิจิตรสังฆการมงคล (พระครูนิพันธ์วิริยกิจ ในปัจจุบันวัดหนองปลิง เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และมี พระครูนิยุตธรรมาภินันท์ วัดป่าเรไลย์   จ.นครสวรรค์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์  เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้ไปสังกัด     บำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ วัดป่าเรไลย์            จ.นครสวรรค์



ชีวิตหลังอุปสมบท
        หลังจากที่อุปสมบทแล้วท่านก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ของท่านให้มีหน้าที่ดูแลพระภิกษุ– สามเณรภายในวัดซึ่งมีประมาณ ๗๐-๘๐ รูป ในขณะเดียวกันก็ได้รับมอบหมายให้สอนหนังสือพระภิกษุ-สามเณร ทั้งแผนกธรรมและสามัญ  โดยสายสามัญท่านไม่หนักใจเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ที่น่าหนักใจสำหรับท่านก็คือแผนกธรรม ตัวท่านเองก็ไม่เคยเรียนมาก่อนพึ่งจะบวช แถมอ่านเท่าไหร่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี แต่ท่านก็ไม่เคยท้อและคิดที่จะถอยเลยและคิดอยู่เสมอว่าเราต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้   จากนั้นท่านก็ได้เริ่มวางแผนการสอนศึกษาไปทีละเรื่อง  ค้นตามพระไตรปิฎกบ้าง  ตามหนังสือที่เกี่ยวข้องบ้าง แม้กระทั่งถามคนที่เคยเรียนผ่านมาบ้าง  ประกอบกับท่านเป็นคนที่เรียนเก่งมาตั้งแต่เด็กจึงทำให้จำได้ และเข้าใจอะไรเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านสอนหนังสือไปได้ด้วยดี ทำให้ทุกรูปที่เรียนกับท่านสอบผ่านยกชั้นทุกปี  แต่ที่น่าเชื่อถืออีกอย่างหนึ่งคือท่านก็สอนตัวท่านเองไปพร้อมกับนักเรียนที่ท่านสอนด้วย  หรือจะพูดง่าย ๆคือท่านเป็นทั้งนักเรียนและครูในคนเดียวกันนั่นเอง
                หลังจากที่สอนเสร็จในแต่ละวันในเวลากลางคืนท่านแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนเลย ต้องตรวจการบ้านของนักเรียนทั้งแผนกธรรม-สามัญ  จากนั้นก็ต้องเตรียมการสอนอย่างนี้จนดึกตอนเช้าก็ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดูความเรียบร้อย และจัดอาหารให้กับพระภิกษุ-สามเณรทุกเช้าไป  หลังจากที่ท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็ต้องขึ้นสอนหนังสือตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น บางวันก็ถึง ๑๙.๐๐ น. จากการทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ เสียสละเวลาในการทำงานของท่าน ด้วยความจริงใจ จริงจัง เลยทำให้นักเรียนได้ผลการเรียนที่ดีมาตลอด 
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ท่านได้รับหน้าที่ให้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดป่าเรไลย์วิทยา  และเป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลกลางแดด ควบคู่กันไปด้วย แต่ท่านไม่เคยดีใจเลยที่มีตำแหน่งหน้าที่มากมายขนาดนี้แม้ว่านั่นจะเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดลาภสักการะกับท่านก็ตาม  ซึ่งสิ่งที่ท่านได้มาไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของต่าง ๆ ท่านไม่เคยที่คิดว่าเป็นของท่านเลยสักนิดได้มาก็นำไปเลี้ยงดูพระภิกษุ-สามเณรหมดแม้กระทั่งทรัพย์สินส่วนตัวของท่านที่ได้มาตั้งแต่ยังไม่ได้อุปสมบทยังนำไปขาย  เพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูพระภิกษุ-สามเณรให้สุขสบาย  ท่านเคยบอกว่า “เสียดายเงินที่เคยนำไปใช้เที่ยวสนุกสนานไปวัน ๆ หนึ่ง ตั้งมากมายตอนเป็นฆราวาส ถ้าย้อนกลับไปได้เอาเงินเหล่านั้นมาเลี้ยงดูพระภิกษุ -สามเณร ยังจะดีกว่า”  
        ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่จริงใจดูแลเอาใจใส่พระภิกษุ-สามเณรเหมือนกับเป็นลูกของท่านเป็นอย่างดีจึงทำให้พระภิกษุ-สามเณรรักท่านมาก  ท่านได้ทุ่มเทในการทำงานอย่างจริงใจ บางวันแทบจะเดินขึ้นไปสอนไม่ไหวด้วยความที่ท่านเหนื่อยมากไม่มีเวลาพักผ่อน  ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง แต่ท่านก็อดทนมากแทบจะไม่เคยที่จะแสดงอาการเหล่านั้นให้พระภิกษุ-สามเณรเห็นเลย  ถึงเวลาทำงานท่านก็ทำด้วยความจริงจัง ถึงเวลาสนุกเฮฮากับลูก ๆ ท่านก็สนุกแต่ต้องอยู่ในขีดจำกัด     ท่านไม่เคยถือตัวแต่อย่างใด    อย่างเช่น      ตอนนั้นที่     วัดป่าเรไลย์ได้มีการดำเนินการสร้างพระอุโบสถ ท่านก็ได้ลงมือทำไปกับพระภิกษุ-สามเณรด้วย  ถึงเวลาขุดดินท่านก็ขุดด้วย  ถึงเวลาตัดไม้ท่านก็ตัดด้วย  แม้กระทั่งเทปูท่านก็ลงมือประสมปูนเอง ไม่เคยเอาเปรียบลูก ๆของท่านเลย
        ยามใดที่ลูก ๆ ของท่านทำผิด ท่านก็ทำโทษโดยไม่มีความลำเอียง   ถึงเวลาทำโทษท่านดุมากท่านจะตีลูก ๆ ของท่านด้วยมือของท่านเองจะไม่ยอมให้ใครมากระทำแทน  แต่ก่อนที่จะทำโทษครั้งใดท่านจะต้องไต่สวนให้เห็นความผิดที่กระทำเสียก่อนเสมอ และมักจะชี้แจงให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียที่กระทำ พร้อมบอกกับลูกของท่านให้รักกันสามัคคีกัน  พอถึงเวลาทำโทษอย่างไรก็จะไม่มีใครคิดจะโกรธท่านเลย บางรูปโดนตีแล้วยังหัวเราะกันได้อีกที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาได้รับฟังในสิ่งที่ดี รู้ว่าอันไหนดีไม่ดี และท่านไม่ได้ทำโทษคนเพราะความโกรธ ท่านทำด้วยความผิดของคน ๆ นั้นนั่นเอง แถมบางครั้งท่านทำโทษลูก ๆ เสร็จท่านมักจะหายาทาให้ บางครั้งก็แอบไปร้องให้ด้วยความเสียใจที่เลี้ยงลูก ๆได้ไม่ดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านเป็นที่รักและเคารพสักการะของพระภิกษุ-สามเณรเสมอ 
                เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔  ตลอดระยะเวลาที่ทำความดีมาโดยตลอด  จนมาถึงวันที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน  ซึ่งท่านได้ถูกใส่ความจากอุบาสก-อุบาสิกาบางกลุ่มที่ไม่ชอบในการปฏิบัติของท่านที่ขัดต่อผลประโยชน์ที่พวกเขาเหล่านั้นจะพึงแสวงหาได้จากทางวัด พร้อมกันนั้นอุบาสก - อุบาสิกา เหล่านั้นก็ได้นำเรื่องที่แต่งขึ้นเองซึ่งไม่เคยมีเค้าความจริง ไม่มีหลักฐานในการเอาผิดแม้แต่นิดไปเล่าให้อาจารย์ของท่านฟัง (เจ้าอาวาส) และทำให้อาจารย์ของท่านหลงเชื่อ แล้วนำเรื่องเหล่านั้นกลับมาเล่นงานท่านโดยขาดการไต่สวน หาข้อเท็จจริง ขาดความยุติธรรม เหตุนี้จึงสั่งให้ท่านหยุดพักงานทุกอย่างที่เคยทำมา  แม้กระทั่งจับท่านลาสิกขาแต่ท่านไม่ยินยอมด้วยความที่ท่านไม่ผิด แต่ด้วยความสบายใจท่านจึงขอย้ายไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่  สำนักสงฆ์เขาพระเจดีย์ ต.กลางแดด    อ.เมืองฯ  จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ในเขตการปกครองของอาจารย์ท่านที่เป็นเจ้าคณะตำบลกลางแดด ในสมัยนั้น ก่อนที่ท่านจะออกไปท่านบอกกับบุคคลที่ใส่ร้ายท่านว่า  “ถ้าหากอาตมภาพผิดจริงให้หาหลักฐานมาแล้วเอาตำรวจไปจับได้เลยจะไม่หนีไปไหน และพร้อมที่จะส่งมอบหลักฐานทุกอย่างที่ยืนยันว่าท่านไม่ผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดู” หลังจากนั้นท่านก็ได้ย้ายออกไปและมีสามเณรจำนวน ๗ รูป ติดตามท่านไปอยู่ด้วย  ท่านก็ส่งให้เรียนตามปกติ  เมื่อท่านพำนักอยู่ที่นั่นท่านก็ได้บำเพ็ญสมณะธรรมปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตลอดระยะเวลา ๓  เดือนไม่เคยย่อหย่อนเลยสักวัน พอตกกลางคืนท่านก็ได้สนทนาธรรมสั่งสอนลูกศิษย์ที่กลับมาจากโรงเรียนอยู่อย่างนี้ทุกวัน  ในขณะที่ท่านบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ที่นั่นทำให้ท่านเผชิญกับอุปสรรค์มากมายถึงกลับมีคนมาด่าท่านเสีย ๆ หาย ๆ ต่อหน้าก็มี  แต่ท่านไม่เคยโกรธและตอบโต้เลย เมื่อเขาด่าเสร็จท่านเพียงแค่ถามว่าด่าพอหรือยังเหนื่อยไหม แค่นี้เอง คนที่มาด่าท่านต้องพ่ายกลับไปเอง  และยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่ท่านเคยเผชิญ
                ในวันที่  ๒๐  มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕  ท่านพร้อมกับลูกศิษย์ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่วัดศาลเจ้า (สกุณีอนุสรณ์)  ต.กลางแดด   อ.เมือง ฯ       จ.นครสวรรค์  ตามที่คำนิมนต์ของเจ้าอาวาสวัดศาลเจ้า และอุบาสก-อุบาสิกา ของวัดศาลเจ้า (สกุณีอนุสรณ์) แต่ในขณะเดียวกันนั้นเมื่อพระเถระผู้ใหญ่หลายๆ รูปที่ให้ความเมตตา และได้รู้ว่าท่านพักอยู่ที่วัดศาลเจ้า  (สกุณีอนุสรณ์)  จึงได้นิมนต์ให้ไปอยู่ด้วย แต่ด้วยความเกรงใจและกลัวว่าจะพาสามเณรที่ติดตามท่านเป็นจำนวนมากจะไปรบกวนจึงได้ปฏิเสธไปทุกครั้ง
หลังจากที่ท่านและลูกศิษย์ มาอยู่ที่วัดศาลเจ้าแล้วก็ได้ช่วยกันพัฒนาวัด  บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้มีสภาพที่ดีขึ้นใช้งานได้ดีดั่งเดิมทำบริเวณวัดให้ร่มรื่นสะอาดตา และสบายใจของผู้พบเห็น ถึงท่านจะทำวัตถุให้ดีเพียงใดแต่ท่านก็ไม่ลืมที่จะสร้างศาสนบุคคลให้ดี ได้ส่งให้พระภิกษุ-สามเณรไปเรียนตามปกติ   พร้อมกันนั้นก็ได้ชักชวนให้ญาติโยมละแวกวัดได้เข้ามาสวดมนต์ปฏิบัติธรรมทุกเย็นที่ลานธรรมใต้ต้นไทรที่ท่านหาทุนทรัพย์มาสร้างเอง
                ด้วยขณะนั้นหลวงพ่อพระครูนิพันธ์วิริยกิจ  ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน ได้ทราบว่าท่านอยู่ที่วัดศาลเจ้าจึงเรียกให้เข้าไปพบที่วัดหนองปลิง    จ.นครสวรรค์  โดยให้พระภิกษุ-สามเณรที่เป็นลูกศิษย์ไปด้วย เมื่อท่านเข้าไปหลวงพ่อก็ได้นิมนต์ให้พาพระภิกษุ-สามเณร ไปอยู่ที่วัดราษฎร์เจริญ   ต.พระนอน  อ.เมืองฯ  จ.นครสวรรค์  แต่ท่านก็ไม่ยังรับปากขอไปประชุมพระภิกษุ-สามเณร   พร้อมกันนั้นขอไปดูวัดก่อน
                หลังที่กลับจากวัดหนองปลิงท่านก็ได้เรียกพระภิกษุ-สามเณรเข้าหารือ ได้ความว่าไป แต่อย่างไรก็ไปดูวัดก่อนพอถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่งก็ได้พากันไปดูวัด เมื่อนั่งรถมาถึงยังหมู่บ้านสิ่งที่ท่านและพระภิกษุ-สามเณรสังเกตเห็นคือสายตาของชาวบ้านที่มองเหมือนว่าพวกพระภิกษุ -สามเณรจะมายึดวัดของพวกเขา  แต่ที่น่าตกใจมากเมื่อเข้ามาในวัดแล้วเห็นสภาพที่รกมาก  มีแต่ป่าหญ้า  ป่ากล้วย  เสนาสนะเต็มไปด้วยมูลของนกพิราบเหมือนกับวัดร้างเลยทีเดียว  แค่เห็นก็เหนื่อยแล้ว  จากที่ไปดูวัดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยก็ได้กลับมาคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้ข้อตกลงว่าย้ายไป  หลังจากที่ตกลงกันแล้วท่านก็เข้าไปกราบเรียนให้หลวงพ่อพระครูนิพันธ์วิริยกิจได้ทราบ  แล้วก่อนที่จะไปอยู่นั้นท่านก็พาลูกศิษย์ไปทำความสะอาดภายในวัดให้มีที่อยู่ที่อาศัยให้ลงตัวเสียก่อนซึ่งถือว่าเป็นงานที่หนักมากพอสมควรซึ่งใช้เวลาประมาณร่วมอาทิตย์ได้ ในการทำความสะอาดเก็บสิ่งของต่างๆ เข้าที่เมื่อวันที่ ๖  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๔๖  ท่านพร้อมกับพระภิกษุ-สามเณรได้ย้ายมาอยู่ที่วัดราษฎร์เจริญ  โดยมีญาติโยมจากวัดศาลเจ้า  ที่รักและไม่อยากให้ท่านมาพากันมาส่งเป็นจำนวนมาก  พร้อมกันนั้นก็มีชาวบ้านห้วยลึกได้พากันมาต้อนรับ  ขณะนั้นท่านเข้ามาอยู่ในฐานะรักษาการแทนเจ้าอาวาสฯ   หลังจากที่ได้เข้ามาอยู่วัดราษฎร์เจริญแล้วก็ได้ดำเนินการพัฒนาวัดอย่างหนัก  ซ่อมแซมเสนาสนะ  ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ดูดีสวยงามจัดเก็บสิ่งของภายในวัดให้เป็นระบบ  ซึ่งท่านและพระภิกษุ-สามเณรได้ทำอยู่อย่างนี้อยู่หลายเดือนด้วยกัน  และซึ่งในขณะนั้นมีอุบาสก-อุบาสิกาบางกลุ่มที่ไม่ยอบรับท่านด้วยเห็นที่ท่านเป็นหนุ่มบ้าง แถมมีภิกษุ-สามเณรมาอยู่กันตั้งมากมายบ้าง กลัวจะก่อปัญหาอย่างที่เคยผ่านมาบ้าง กลัวว่าจะเลี้ยงดูไม่ไหวบ้าง  ที่หนักไปกว่านั้นเห็นว่าท่านเป็นเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อพระครูนิพันธ์วิริยกิจส่งมายึดวัดบ้างซึ่ง เป็นสิ่งมองแล้วมีทั้งท้าทายและตลกมาก  แต่ท่านก็ไม่หวาดหวั่นในคำพูดเหล่านั้นมีแต่จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานบำรุงรักษา ดูแลวัดให้ดีให้มีสภาพสวยงามอย่างที่เป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน  แล้วในที่สุดคนที่เคยดูถูกท่านก็หันกลับมายอมรับในตัวท่านเอง
                เมื่อวันที่  ๒๐  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๖  ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ  จากนั้นก็ได้เดินหน้าพัฒนาวัดให้ร่มรื่น  พร้อมกับพัฒนาคน  ส่งพระภิกษุ-สามเณร ให้ได้รับการศึกษามาโดยตลอดทั้งทางโลก และทางธรรมควบคู่กันไปในแต่ละปีจะมีพระภิกษุ-ที่เข้ามาอยู่กับท่านเป็นจำนวนมากท่านก็ได้ส่งให้เรียน  พร้อมกันนั้นก็ได้เผยแผ่ธรรมะให้กับประชนชน ทั้งที่ใกล้และไกลให้ได้เข้าใจในหลักธรรมและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จนเป็นที่นับถือของผู้คนทั้งหลาย  ยิ่งกว่านั้นท่านเป็นพระที่มีบทบทบาทสำคัญกับชาวบ้านห้วยลึกมาก ท่านให้การแนะนำแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับญาติโยม  ให้การสนับสนุนกิจกรรมของหมู่บ้าน  ของตำบล  ให้การช่วยเหลือคนเป็นจำนวนมากโดยไม่เคยหวังผลตอบแทนเลย  และสิ่งที่เน้นอยู่เสมอคือความสามัคคีกัน  ท่านพยายามทำงานเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอดแม้ร่างกายจะเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวดอย่างไรก็ไม่เคยหวั่นแม้วันไหนไม่ไหวจริง ๆ ท่านถึงยอมที่จะนอนพัก หรือหนักกว่านั้นบางครั้งท่านนอนสอนธรรมะแก่ลูกศิษย์  แก่อุบาสก-อุบาสิกาก็ยอม ท่านไม่เคยที่จะหยุดทำงานเลยสักวัน   และท่านเคยพูดกับลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “อย่าท้อในการทำความดี ทำเพื่อพระพุทธศาสนาแม้ร่างกายมันจะตายในขณะทำความดีก็ยังดีให้มันตายขณะที่ทำชั่ว”
                เมื่อวันที่  ๑๙  สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๕๒  ท่านได้ล้มป่วยลงจึงได้นำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครสวรรค์ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึขึ้น  ศิษยานุศิษย์จึงขอส่งตัวไปรักษาต่อที่ กรุงเทพ ฯ
                เมื่อวันที่  ๒๑  สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๕๒  ได้นำท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  และนับเป็นพระเมตตายิ่งแห่งสมเด็จพระสังฆราชฯได้รับท่านให้เป็นผู้ป่วยในสังฆราชูปถัมภกในสมเด็จพระสังฆราชฯ พร้อมกันนั้นก็ได้จัดชุดแพทย์เข้าไปตรวจรักษา ได้ทำการวินิจฉัย และได้ข้อสรุปว่าท่านเป็นโรคตับ  
จากการเข้ารักษาตัวในครั้งนั้นนับว่ามีอาการที่ดีขึ้น  และกลับมารักษาตัวต่อที่วัดได้ระยะหนึ่งท่านก็มีอาการไม่ค่อยสู้ดีนักจึงได้นำส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดังเดิมอยู่เช่นนี้แต่ในที่สุดร่างกายของท่านก็ได้ททรุดลงอย่างมาก ร่างกายไม่ตอบสนองต่อตัวยาที่เข้าไปรักษาภายใน  ร่างกายก็ยิ่งทรุดลงยากที่จะเยียวยาไว้ได้
                เมื่อวันที่  ๒๓  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒  เวลา  ๑๑.๑๕ น. ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ  ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของศิษยานุศิษย์  ตลอดจนอุบาสก-อุบาสิกาและผู้มีจิตศรัทธา 
สิริอายุได้  ๔๒  ปี  พรรษา  ๑๒
 วิทยฐานะ
            แผนกธรรม    พ.ศ. ๒๕๔๔ จบ น.ธ. เอก  แผนกสามัญ     พ.ศ. ๒๕๓๐ จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  เอกการบัญชี   ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์
           ความชำนาญพิเศษ   การบริหารงานบุคคล,  การจัดการการเงิน,  ช่างก่อสร้าง
งานปกครอง
            พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส  วัดราษฎร์เจริญ ม.๑๓ 
ต.พระนอน  อ.เมือง  จ.นครสวรรค์
           วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับการแต่งตั้งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ
          วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗        ได้รับแต่งตั้งเป็นพระวินยาธิการประจำอำเภอเมืองนครสวรรค์
งานด้านการศึกษา 
       พ.ศ. ๒๕๔๒  - ๒๕๔๔                 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม, แผนกสามัญ โรงเรียนวัดป่าเรไลย์วิทย               ต.นครสวรรค์ออก  อ.เมือง  จ.นครสวรรค์
       พ.ศ. ๒๕๔๒- ๒๕๔๔ (ปีเดียวกัน)    เป็นผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนวัดป่าเรไลย์ ต.นครสวรรค์ออก อ.เมือง        จ.นครสวรรค์
        นอกจากนี้  พระอธิการอนุจิต อนุตฺตโร  ยังส่งเสริมให้ภิกษุ-สามเณรทุกรูปภายในวัดได้รับการศึกษา 
        - ระดับมัธยมศึกษา  ตั้งแต่  ม.๑-ม.๖- ระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ ปริญญาตรี-ปริญญาโท
        -โดยรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการศึกเล่าเรียนทั้งหมด
-มอบทุนการศึกษาแก่ภิกษุ-สามเณรที่สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี  - โท - เอก ทุกปี
  งานเผยแผ่
          พ.ศ.  ๒๕๔๖ – ๒๕๕๒  แสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ  วันสำคัญและปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี
          พ.ศ.  ๒๕๔๖ – ๒๕๕๒  เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลพระนอน
          พ.ศ.  ๒๕๔๖ – ๒๕๕๒  เป็นประธานหน่วยอบรมมหัลลกภิกษุ (โครงการชุบชีวิตพระหลวงตา)
       พ.ศ. ๒๕๔๙- ๒๕๕๒  รับหน้าที่เป็นพระธรรมทูต (ปฏิบัติการ) อบรมข้าราชการ,ตลอดจนประชาชนทั่วไป,นักเรียน-นักศึกษา

Search

วัดราษฎร์เจริญ

โพสต์ยอดนิยม

พยากรณ์อากาศ